วันอังคารที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2556

ทรงกลด บางยี่ขัน บ.ก. a day ร่าย 10 ข้อ ผลกระทบสร้างเขื่อนแม่วงก์

ท่ามกลางความคิดเห็นที่ขัดแย้งเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนแม่วงก์ และกระแสคัดค้านจากประชาชนที่ออกมาเรียกร้องให้คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น หลายคนอาจจะยังไม่ทราบและไม่เข้าใจ เกี่ยวกับเหตุผลของการคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ซึ่งเป็นกระแสไปทั่วโซเชียลเน็ตเวิร์กอยู่ในขณะน

วันที่ 23 กันยายน 2556 ทรงกลด บางยี่ขัน นักเขียนชื่อดังและบรรณาธิการนิตยสาร a day จึงได้มีการโพสต์ข้อความผ่าน เฟซบุ๊ก Zcongklod Bangyikhan เพื่ออธิบายผลกระทบจากการสร้างเขื่อนแม่วงก์ให้หลายคนที่ยังไม่เข้าใจ ได้ทำความเข้าใจอย่างมีสติ โดยข้อความดังกล่าว มีดังน

“เมื่อฝุ่นหายตลบผมก็เริ่มตั้งสติได้ว่า การแสดงออกในที่สาธารณะไม่ว่าจะเป็นสื่อใด ควรเป็นไปโดยสันติ ทำด้วยความรักธรรมชาติดีกว่าทำไปโดยความโกรธแค้น แทนที่จะออกมาด่าทอกันก็เปลี่ยนมาพูดกันด้วยเหตุผล อย่างน้อยๆ สังคมจะได้ข้อมูลอะไรเพิ่มเติมบ้าง นอกจากความสะใจ

ผมขอเริ่มจากตัวเองก่อนครับ แทนที่จะมาด่าว่านักการเมือง ผมขออธิบายปัญหาของเขื่อนแม่วงก์ให้ฟังโดยสรุปดีกว่า

1. ปัญหาที่สำคัญสุดของเขื่อนแม่วงก์คือการสร้างเขื่อนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ซึ่งมีความสมบูรณ์มาก จะมีการตัดไม้สักจำนวนมากในบริเวณที่จะทำอ่างเก็บน้ำ ซึ่งในระยะเวลา 8 ปีที่สร้างเขื่อน ไม่มีใครรับรองว่าจะไม่มีการตัดไม้เกินจากที่กำหนด หรือการออกล่าสัตว์ป่า

2. ป่าแม่วงก์อยู่ติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร (ห้วยขาแข้ง) ซึ่งเป็นมรดกโลก อุทยานแห่งชาติคลองลาน ถือเป็นส่วนหนึ่งของป่าตะวันตก ซึ่งเป็นป่าอนุรักษ์ 17 ผืนติดกัน กินพื้นที่ 11.7 ล้านไร่ เป็นผืนป่าที่ใหญ่สุดในไทย ใหญ่เพียงพอที่จะเป็นบ้านของสัตว์ที่ต้องการพื้นที่หากินเป็นบริเวณกว้างอย่าง เสือโคร่ง ช้าง กระทิง วัวแดง สมเสร็จ ควายป่า ฯลฯ การสร้างเขื่อนในบริเวณนี้หมายถึงการเปิดทางให้คนเข้าไปล่าสัตว์และตัดไม้ในผืนป่าทั้งหมด และเมื่อมีอ่างเก็บน้ำ คนตัดป่าและล่าสัตว์ ก็สามารถเดินทางเข้าและขนไม้และสัตว์ออกจากป่าได้ง่ายขึ้นด้วยเรือ การเสียพื้นที่ป่าแค่ 18 ตารางกิโลเมตร จึงอาจไม่ใช่การเสียอวัยวะ แต่เป็นการเสียหัวใจ ซึ่งหมายถึงชีวิตของป่าตะวันตกทั้งผืน

3. รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ หรือ EHIA โครงการเขื่อนแม่วงก์ ทำขึ้นโดยมีข้อมูลไม่ครบถ้วน ละเลยความสำคัญของผืนป่าในหลายมิติ รวมถึงโครงการลดผลกระทบก็ไม่มีการลงรายละเอียดที่ชัดเจน

4. เขื่อนแม่วงก์มีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาน้ำท่วมน้อยมาก แม่น้ำสายนี้ไม่ได้ไหลไปยังตัวเมืองนครสวรรค์ จึงแทบไม่มีผลต่อการช่วยน้ำท่วมในตัวเมืองนครสวรรค์ และถ้ามองในแง่ของปริมาณน้ำที่ท่วมทั้งภาคกลาง พบว่าเขื่อนแม่วงก์เก็บน้ำได้แค่ 1% เท่านั้น

5. อีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้น้ำท่วมก็คือการเปลี่ยนพื้นที่ป่าซึ่งเป็นแหล่งดูดซับน้ำที่ดีที่สุดให้กลายเป็นพื้นที่เกษตรเชิงเดี่ยว ถ้ายังเป็นแบบนี้สร้างอีกกี่เขื่อนก็คงไม่พอ

6. ในแง่ของการสร้างเขื่อนเพื่อกักเก็บน้ำ น้ำที่ได้ส่วนใหญ่เป็นชลประทานในฤดูฝน หมายถึงจ่ายน้ำได้เฉพาะฤดูฝน

7. ชาวบ้านจำนวนมากที่สนับสนุนการสร้างเขื่อนไม่ทราบว่าจะมีการเวนคืนที่ดินอีกกว่า 11,000 ไร่ จากชาวบ้านราว 1,000 ราย เพื่อทำคลองส่งน้ำ

8. ข้อเสนอในการแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งขององค์กรอนุรักษ์คือ การทำอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กของแต่ละชุมชน นอกจากจะทำให้ชุมชนต่าง ๆ มีน้ำใช้แล้ว ยังสามารถบริหารจัดการน้ำได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องหวังพึ่งการปล่อยน้ำของเขื่อนและชุมชนที่อยู่ต้นน้ำ อย่างที่กำลังมีปัญหาอยู่ในปัจจุบัน ใช้งบประมาณเพียง 4,600 ล้านบาท (200 ล้านบาท x 23 ตำบล) น้อยกว่างบในการสร้างเขื่อนแม่วงก์ 13,000 ล้านบาท ถึง 1 ใน 3

9. ในการพิจารณา EHIA ฉบับนี้ (ถ้าคณะกรรมการอนุมัติก็จะนำไปสู่การลงมือสร้าง) รัฐบาลได้มีการปรับเปลี่ยนบุคลากรของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และคณะกรรมการผู้ชำนาญการ โดยปรับเอาบุคคลที่ได้รับการยอมรับในความเป็นกลางออกทั้งหมด

10. ไม่ว่าจะมองในมุมไหน การเอาผืนป่าที่มีความสำคัญทางระบบนิเวศมากไปแลกกับเขื่อนที่มีประสิทธิภาพต่ำมากทั้งในแง่การจัดการน้ำท่วมและน้ำแล้ง จึงไม่มีความคุ้มค่าเลย”.
รองเท้ากีฬา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น