วันจันทร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2556

มาตรการปรับ-ยกรถ ประเดิมครึ่งวันแรก ยกไป 5 คัน แจกใบสั่งเพียบ


รอง ผบช.น. ยืนยัน เริ่มมาตรการปรับ-ยกรถในวันนี้ (21 ต.ค.) และคาดว่า ในต้นเดือนพฤศจิกายน จะมีการประกาศเพิ่มเติมอีก 56 เส้นทาง

            เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2556 พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รองผบช.น.) รับผิดชอบงานด้านจราจร เผยนโยบายปฏิบัติบังคับใช้กฎหมายจราจร โดยเฉพาะการยกรถแทนการล็อกล้อตามแผนพัฒนาแก้ไขปัญหาจราจร กทม. ก่อนลงมือปฏิบัติจริงบนถนน 10 สายหลัก ในวันนี้ (21 ตุลาคม 2556) ว่า สำหรับเรื่องยกรถแทนการล็อกล้อนั้น มีการกำหนดระยะเวลาการทำงานเป็น 3 ระยะ

            ระยะที่ 1 วันที่ 9-11 ตุลาคม เป็นขั้นตอนเตรียมความพร้อมทั้งคนและอุปกรณ์

            ระยะที่ 2 วันที่ 16-20 ตุลาคม เป็นการประชาสัมพันธ์และเตือนประชาชน  ซึ่งในวันที่ 18 ตุลาคม  ที่ผ่านมา ทาง พล.ต.ท.เรืองศักดิ์ จริตเอก ผู้ช่วย ผบ.ตร. ได้มาร่วมเป็นสักขีพยาน ในการสาธิตการยกรถที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ร่วมกับ ผกก. 32 สน. และ ผอ.เขต 19 เขต โดยใช้เวลาเพียงแค่ 2 นาทีเท่านั้น

            ระยะที่ 3 คือ วันที่ 21 ตุลาคม เป็นต้นไป จะเริ่มดำเนินการจับจริง โดยได้รับความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน มีรถยกที่เข้าร่วมกว่า 250 คัน และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรเตรียมพร้อม ตอนนี้คิดว่าทุกอย่างพร้อม 100 เปอร์เซ็นต์  
                                                                                                                                                
            พล.ต.ต.อดุลย์ กล่าวอีกว่า รถยกจะจอดสแตนด์บายไว้ที่สถานีต่าง ๆ สำหรับการยกรถในวันนี้ จะเริ่มตั้งแต่ช่วงเช้าและให้รายงานผลการดำเนินการในเวลา 18.00 น. ของทุกวัน จากนั้นทุก 10 วัน จะมีการประเมินผลว่า ภายหลังจากใช้มาตรการยกรถที่กีดขวางในเส้นทางที่ประกาศไว้ การจราจรในเส้นทางนั้นดีขึ้นหรือไม่

            ทั้งนี้ หากดีขึ้น 10-20 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าประสบผลสำเร็จ ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายจราจร น่าจะช่วยให้ความประพฤติของผู้จอดรถกีดขวางทางดีขึ้น อีกทั้งน่าจะเกิดอุบัติเหตุน้อยลง เพราะบางครั้งการจอดรถกีดขวางก็เสี่ยงต่อการถูกเฉี่ยวชน ซึ่งนอกจาก 10 เส้นทางนี้ ในต้นเดือนพฤศจิกายน ก็จะมีการประกาศเพิ่มเติมอีก 56 เส้นทาง จาก 56 สถานี โดยให้แต่ละสถานีสำรวจและรายงานมาแล้ว          

            อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หากรถยกมีการทำให้รถผู้กีดขวางเสียหายขณะดำเนินการจะทำอย่างไร พล.ต.ต.อดุลย์ กล่าวว่า ในส่วนนี้ทางกองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) จะตรวจสอบให้ชัดเจนว่าใครเป็นผู้ยก ซึ่งเบื้องต้นได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ใช้ความระมัดระวัง เชื่อว่าคงมีความเสียหายน้อยที่สุด แต่หากเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามหน้าที่แล้วเกิดความเสียหายจริง ในส่วนนี้จะมีกฎหมายคุ้มครองอยู่
                                                                                                                                                                     
            นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ในส่วนการเสียค่าปรับนั้น รถยนต์ทุกชนิดจะเสียค่าปรับ 500 บาทตามกฎหมาย แต่จะมีรายละเอียดเพิ่มเติม คือ

            รถยนต์ 4 ล้อ มีค่ายกรถ  500 บาท ค่าดูแล 200 บาทต่อวัน

            รถยนต์ 6 ล้อ มีค่ายกรถ 700 บาท ค่าดูแล 300 บาทต่อวัน

            รถยนต์ 10 ล้อขึ้นไป มีค่ายกรถ 1,000 บาท ค่าดูแล 500 บาทต่อวัน

            ในส่วนของสถานที่จะนำรถไปจอดนั้น เบื้องต้นจะนำไปไว้ตามสถานีตำรวจต่าง ๆ ในแต่ละพื้นที่รับผิดชอบ หากสถานีไหนไม่มีสถานที่จอดรถ ก็จะประสานภาคเอกชนให้จัดสถานที่เพื่อนำรถไปจอดไว้  

                                          
           อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงเวลา 12.00 น. ที่ผ่านมา พ.ต.ท.พิษณุ โกสิยวัฒน์ สารวัตรจราจร สน.พหลโยธิน เปิดเผยว่า ตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา พบการทำผิดกฎหมายมากมายบนถนนรัชดาภิเษก บริเวณหน้าศาลอาญา โดยขณะนี้มีการยกรถไปที่ สน. 2 คัน นอกจากนี้ยังมีรถถูกล็อกล้อ 5 คัน โดนใบสั่งห้ามจอดไป 40 ราย  รวมถึงถ่ายรูปรถทุกคันไว้เป็นหลักฐานด้วย ทั้งนี้ เนื่องจากบริเวณหน้าศาลอาญาทุกวันจันทร์จะมีการดำเนินการเกี่ยวกับคดีความเป็นจำนวนมากและที่จอดรถศาลก็ไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องมาจอดริมถนนส่วนรถทั้งสองคันที่ถูกยก ผู้ขับขี่ได้มาจ่ายค่าปรับ 500 บาท ค่ายยกรถ 500 บาท และนำรถคืนไปแล้ว

          นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า ในช่วงเช้ามีรถถูกยกทั้งสิ้น 5 คัน เป็นของ สน.พญาไท 2 คัน, สน.ทุ่งมหาเมฆ 1 คัน และ สน.พหลโยธิน 2 คัน



สำหรับ 10 เส้นทางหลักที่มีการบังคับใช้มาตรการยกรถ คือ

            1. ถนนลาดพร้าว ตั้งแต่แยกลาดพร้าว-แยกแฮปปี้แลนด์

            2. ถนนพระราม 4 ตั้งแต่แยกหัวลำโพง-แยกพะราม 4

            3. ถนนสุขุมวิท ถนนเพลินจิต ถนนพระราม 1 ตั้งแต่แยกบางนา-แยกพงษ์พระราม

            4. ถนนรัชดาภิเษก ถนนอโศกดินแดง ถนนอโศกมนตรี ตั้งแต่แยกประชานุกูล-แยกรัชดาพระราม 4

            5. ถนนรามคำแหง ถนนพระราม 9 ถนนจตุรทิศ ตั้งแต่แยกคลองเจ๊ก-แยกรามคำแหง-ถนนจตุรทิศ

            6. ถนนพหลโยธิน ถนนเกษตรนวมินทร์ ตั้งแต่อนุสาวรีย์ชัยฯ-สะพานใหม่ และแยกเกษตรศาสตร์-แยกนวมินทร์

            7. ถนนสาทรเหนือและสาทรใต้ตลอดสาย

            8. ถนนราชดำเนิน สะพานพระปิ่นเกล้าฯ ถนนบรมราชชนนี และถนนคู่ขนานลอยฟ้า ตั้งแต่ลานพระราชวังดุสิต-แยกผ่านพิภพฯ-จนสุดเขตกรุงเทพมหานคร

            9. ถนนเพชรบุรี ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ตั้งแต่แยกอุรุพงษ์-แยกคลองตัน

            10. ถนนวิภาวดีรังสิต ตลอดสาย
รองเท้ากีฬา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น