วันเสาร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ตามรอยรถไฟสายมรณะไป'ตันบิวซายัต'


เสียงฆ้อนกระแทกลิ่ม เสียงระเบิด เสียงตะคอกของผู้คุม เสียงร้องโอดโอยด้วยความเจ็บปวด เมื่อตอกลิ่มพลาดไปโดนมือเพื่อนแหลก เสียงฆ้อน ระเบิด เคลียร์ ดังอยู่ทั้งกลางวันและกลางคืน ในยุคของสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ผ่านมาทางประเทศไทย จนเกิด เส้นทางรถไฟสายมรณะขึ้น จากกรุงเทพ ไปเชื่อมต่อที่ชุมทางรถไฟหนองปลาดุก อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ไปเชื่อมต่อกับทางรถไฟที่สร้างจากพม่าที่แก่งคอยท่า หรือสถานีกองกุยตะ ซึ่งอยู่ลึกเข้ามาจากด่านเจดีย์สามองค์ ชายแดนไทย-พม่า  ราวๆ 40 กม.

                เส้นทางรถไฟสายมรณะที่เริ่มก่อสร้างขึ้นกลางปี 2485 ผ่านป่าและภูเขา จากบ้านโป่ง เพื่อไปยัง ตันบิวซายัต (Thanbyuzayat) ในประเทศพม่า ระยะทาง 415 กม. เพื่อใช้เป็นเส้นทางลำเลียงเสบียงและอาวุธไปเสริมทัพ ที่สู้รบกับอังกฤษในพม่าและมีเป้าหมายคือการรุกไปถึงอินเดีย เส้นทางที่ยากที่สุดของการสร้างทางรถไฟ อยู่ในหุบเขาแควน้อย ที่มีทั้งเส้นทางเลียบผาหินและแม่น้ำ และเส้นทางที่ต้องตัดภูเขาหินที่มีระดับความลึกถึง 25 เมตรในจุดที่ลึกที่สุด จนได้ชื่อว่า ช่องไฟนรก  (Hellfire Pass) หรือที่เราถนัดเรียกกันว่า ช่องเขาขาด

                ตลอดความยาว 415 กิโลเมตรของทางรถไฟสายนี้ เป็นทางรถไฟอยู่ในเขตประเทศไทยประมาณ 303.95 กิโลเมตร และอยู่ในเขตพม่า 111.05 กิโลเมตร มีสถานีจำนวน 37 สถานี  ต้องสร้างสะพานเหล็กและซุงถึง 688 แห่ง ค่าแรงเป็นมูลค่าชีวิตมนุษย์นับไม่ถ้วน โดยมีการประมาณว่า เป็นเชลยศึก (POW: Prisoner Of War) 12,800 นาย และแรงงานชาวเอเชียอีกราว 90,000 คน ใช้เวลาก่อสร้าง 15 เดือน

               หลังสิ้นสุดสงครามรัฐบาลไทยได้จ่ายเงินจำนวน 50 ล้านบาท เพื่อซื้อทางรถไฟสายนี้จากอังกฤษ ทำการซ่อมบำรุงบางส่วนเพื่อเปิดการเดินรถตั้งแต่สถานีหนองปลาดุกจนถึงสถานีน้ำตก และ เส้นทางสายยาวจากกรุงเทพ ซึ่งต้องไปขึ้นรถไฟที่สถานีธนบุรี - สถานีน้ำตก ที่สำคัญคือ ฟรีสำหรับคนไทย ตามนโยบายรัฐ  ผ่านแห่งท่องเที่ยวสำคัญ ตั้งแต่ สะพานข้ามแม่น้ำแคว ที่สถานีสะพานแควใหญ่, ปราสาทเมืองสิงห์ ที่สถานีท่ากิเลน   ผ่านสะพานไม้ที่ยาวที่สุด 400 เมตร หรือโค้งมรณะ ที่สถานีถ้ำกระแซ และปลายทางสถานีน้ำตก ที่อยู่ห่างจากน้ำตกไทรโยคน้อยเพียง 2 กม.

               ปลายทางของรถไฟสายมรณะนี้ จากเมืองตันบิวซาแย็ตสร้างมาเชื่อมต่อกับทางรถไฟฝั่งไทย ก็เต็มไปด้วยความเจ็บปวดรวดร้าวไม่ต่างกัน หากแต่ไม่ได้มีการปรับปรุงเส้นทางใดๆ และมีข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศว่า รัฐมนตรีกระทรวงรถไฟพม่าบอกว่า กำลังศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการเส้นทางรถไฟความยาว 105 กม.จากฝั่งพม่า มายังไทย บริเวณด่านเจดีย์สามองค์ เพื่อเปิดใช้เส้นทางสายนี้อีกครั้ง ทั้งเพื่อพัฒนาทางเศรษฐกิจในพื้นที่ยากจน การส่งเสริมการค้ากับไทย และเพื่อการท่องเที่ยว

               เมืองตันบิวซายัต อยู่ในรัฐมอญ ห่างจากทางตอนใต้ของเมืองมะละแหม่ง ราว 65 กม. ปัจจุบันจะเดินทางไปยังต้องไปทางรถไฟหรือรถยนต์จากเมืองย่างกุ้ง ที่ต้องใช้เวลาเดินทางไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมง แต่เดี๋ยวนี้สบายหน่อย นั่งเครื่องบินนกแอร์ จากอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ไปลงที่เมืองมะละแหม่ง แล้วนั่งรถอีกราว 2 ชั่วโมง ก็ไปเดินเล่นในเมืองตัวบิวซายัตได้แล้ว

                จากเมืองมะละแหม่ง มุ่งหน้าลงทางภาคใต้ ผ่านเมืองมุด่ง ไปตัวบิวซายัต เลยไป ไจ๊คะมี ทั้งหมดนี่ระยะทางไม่ถึง 100 กม. แต่ใช้เวลาเดินทางร่วม 2 ชั่วโมงทีเดียว ด้วยสภาพถนนที่ยังไม่ดีนัก ก่อนออกซูเปอร์ไฮเวย์แคบๆ จะต้องจ่ายค่าผ่านทางด้วย สมัยก่อนเดินทางไกลกันแบบนี้จะต้องเตรียมน้ำมันรถไปไว้เติมระหว่างทางด้วย เพราะมีข้อกำหนดที่ว่าจะเติมน้ำมันได้จากปั๊มที่เราไปขึ้นทะเบียนไว้เท่านั้น แต่เดี๋ยวนี้มีปั๊มน้ำมันให้เห็น หรือไม่ก็ร้านที่บรรจุน้ำมันใส่ขวดขายเหมือนต่างจังหวัดบ้านเราก็มี  วันที่ผ่านไป น้ำมันดีเซลเมืองพม่า ราคา 3,800 จ๊าต/แกลลอน  ไม่ถูกเลยแฮะ

                นั่งรถหลับไปหนึ่งตื่น ก็ถึงเมืองตันบิวซายัต เป็นเมืองรำลึกเหตุการณ์ของสงคราม ซึ่งไม่ต่างจากจังหวัดกาญจนบุรีของไทย โดยมี สุสานทหารสัมพันธมิตร ฝังร่างของเชลยศึกที่ต้องสังเวยชีวิตในเหตุการณ์ ไม่ต่ำกว่า 3,000 นาย ณ ที่แห่งนี้  มีเรื่องเล่าว่า บริเวณที่ตั้งสุสานนี้ แต่เดิมเป็นที่ฝังศพของทหารญี่ปุ่น แต่พอฝ่ายสัมพันธมิตรชนะสงคราม สิ่งที่ตามมา คือการขุดย้ายที่ฝังศพออกจากบริเวณนั้น แล้วนำร่างทหารสัมพันธมิตรมาฝังแทน  นอกจากนี้ ยังมีหัวรถจักรของรถไฟสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ตั้งเป็นอนุสรณ์รำลึกเหตุการณ์อันรวดร้าวครั้งนั้นด้วย

                จริงๆ เมืองนี้ เป็นเมืองเรียบง่าย ไม่ได้มีจุดเด่นอะไรมาก นอกจากความเป็นเมืองที่ตั้งของฐานทัพ และเป็นทางผ่านสำคัญ ปัจจุบัน หลงเหลือศาลาเก่าแก่ และหอนาฬิกา ตั้งอยู่บริเวณวงเวียนใจกลางเมือง เป็นสัญญลักษณ์เก่าแก่ที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน สภาพบ้านเรือนเป็นไปแบบเรียบง่าย คนที่นี่ทำสวนยางกันเยอะ เห็นได้ตลอดเส้นทาง

                 จากเมืองตันบิวซายัตไปทางตะวันออกเฉียงใต้ ราว 24 กิโลเมตร ถึงเมืองไจ๊คะมี มีทางสามแยก ถ้าแยกซ้ายก็จะตรงไปชายทะเลเซ็ตเซ ซึ่งเมื่อก่อนเป็นสถานที่ตากอากาศของชาวอังกฤษ แต่ปัจจุบันน้ำสีขุ่น แต่ก็ยังมีนักท่องเที่ยวประเภทแบ็กแพ็กแวะเวียนไปเที่ยวอยู่ ส่วนแยกขวา ก็จะไป ไจ๊คะมีเยเลพญา (Kyai Ka Mi Ye Le Pagoda) หรือเจดีย์กลางทะเล ซึ่งวัดและเจดีย์จะยื่นลงไปในทะเลอันดามัน ซึ่งเจดีย์บรรจุเส้นพระเกศาของสมเด็จพระพุทธเจ้า มีเรื่องเล่ากันว่า หลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน มีพระพุทธรูป 4 องค์ลอยน้ำมา องค์หนึ่งมาขึ้นที่บริเวณแห่งนี้ ซึ่งเมื่อ พ.ศ. 2501 (ค.ศ.1958) เกิดไฟไหม้หมด เหลือแต่พระพุทธรูป ชาวบ้านได้ช่วยการบูรณะใหม่ และนำองค์พระพุทธรูปบรรจุไว้ใต้ฐาน และสร้างองค์จำลองขึ้นมาใหม่

                กลับจากเจดีย์กลางทะเล ผ่านตันบิวซายัต สู่เมืองมูด่ง ก่อนถึงมะละแหม่ง แวะเที่ยวที่ วัดป่าวินเส่งตอว์ยะ (Win Sein Taw Ya) วัดที่มีพระปางไสยาสน์ที่ว่ากันว่าใหญ่ที่สุดในโลก มีความยาวถึง 200 เมตร  ระหว่างทางสู่วัด จะเห็นรูปปั้นพระภิกษุ 500 รูป เรียงแถวยาว มุ่งหน้าสู่วัดป่าแห่งนี้

               อย่างที่ทราบกัน ใครจะเข้าวัด หรือบริเวณวัด จะต้องถอดรองเท้า ที่นี่ก็เช่นกัน ต้องถอดรองเท้าตั้งแต่ตอนเดินลงบันไดที่ทอดยาวไปสู่เจดีย์ ระว่างทางที่ทอดยาวนี้ก็เลียบไปกับทะเล ด้านข้างเห็นศาลาปฏิบัติธรรม อยู่ในองต้นไม้ชายเลน ดูร่มรื่น  ส่วนใต้ฐานเจดีย์ใหญ่ด้านบน ซึ่งอยู่ข้างทางก่อนทอดลงสู่ทะเล จะมีร้านค้าขายของที่ระลึก ข้าวของส่วนใหญ่นอกจากเสื้อผ้า ก็มีเครื่องประดับเปลือกหอย ไปจนถึงปลา และกุ้งแห้ง ด้วยความที่เป็นเมืองชายทะเลนั่นเอง

               เจดีย์ไจ๊คะมี จะแบ่งโซนที่ห้ามผู้หญิงขึ้นไปไหว้พระ โดยจะต้องเดินไปขึ้นด้านหลังแทน ฉันก็เกือบพลาดไปเหมือนกัน บริเวณวัดก่อนสุดปลายทาง มีการจัดแสดงเรื่องราวพุทธประวัติ เป็นแบบรูปปั้นสามมิติ มีรอยพระพุทธบาทขนาดใหญ่ให้คนเข้าไปกราบไหว้ด้วย

                ตื่นตาตื่นใจก็องค์พระที่ใหญ่แสนใหญ่ ขนาดหนึ่งขุนเขาย่อมๆ ใหญ่ขนาดมองเห็นขนตาเลยทีเดียว ระหว่างนั้นคนงานก็กำลังก่อสร้างบริเวณพระหหัตถ์ ขนาดคนตัวจิ๋วเดียว ด้านล่างเป็นสระน้ำ หนุ่มสาวและเด็กๆ เล่นน้ำกันสนุกสนาน แถมด้วยสไลเดอร์แบบง่ายๆ ส่วนด้านข้างเป็นบันไดขึ้นสู่สะพานที่ทอดเข้าไปในตัวองค์พระ ขณะนี้ด้านในก็ยังสร้างไม่เรียบร้อยดี ฉันเลยขอสละสิทธิ์เข้าไปดู ได้แต่เดินคุยกับคนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างแถววัด ถามไปถามมา เคยมารับจ้างกรีดยางที่จังหวัดระนองนี่เอง มิน่า...เดี๋ยวนี้พกความรู้ กลับไปเป็นเจ้าขอสวนยางเองแล้ว

               ตันบิวซายัต เมืองต้นทางของฝั่งพม่าและเป็นเมืองปลายทางของรถไฟสายมรณะจากเมืองไทย ที่เสี้ยวหนึ่งของเส้นทางขาดหายไป แต่ไม่นาน เส้นทางสายประวัติศาสตร์แห่งนี้ คงได้เริ่มขึ้นใหม่ ในรูปแบบที่ต่างไปจากเดิม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น